เงินสำรอง 6 เดือนจำเป็นกว่าที่คิด เริ่มหอมรอมริบตั้งแต่วันนี้

หลายคนอาจคิดว่าเรื่องเงินเก็บเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องรอให้พร้อมก่อนถึงจะเริ่ม แต่ความจริงคือ ‘การมีเงินสำรอง’ เป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าจะทำงานประจำหรืออาชีพอิสระ การมี เงินสำรอง 6 เดือน ช่วยให้จัดการกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกู้ ไม่ต้องเครียด และที่สำคัญ คือไม่ต้องกลับไปเริ่มจากศูนย์

เงินสำรอง 6 เดือน หมายถึงจำนวนเงินที่เท่ากับรายจ่ายต่อเดือนของตัวเอง คูณด้วย 6 เช่น ถ้าใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท เงินสำรองที่ควรมีคือ 90,000 บาท จุดประสงค์คือ ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย ต้องหยุดทำงานกะทันหัน ก็ยังใช้ชีวิตได้ต่ออีก 6 เดือนแบบไม่สะดุด

ฟังดูอาจเยอะ แต่มนุษย์เงินเดือนก็ทำได้ถ้าเริ่มตั้งเป้าให้ชัด และค่อย ๆ เก็บทุกเดือน เช่น เดือนละ 3,000 บาท ใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งก็เก็บครบ และเมื่อเริ่มต้นได้แล้วจะรู้สึกว่าสบายใจกว่าเดิมมาก

เริ่มจากคำนวณรายจ่ายประจำที่จำเป็น เช่น ค่าเช่า, ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายครอบครัว หักส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น ค่าเที่ยว ค่าออนไลน์ช้อปปิ้ง เพื่อให้ได้ตัวเลขจริงที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน จากนั้นคูณด้วย 6 เช่น

  • รายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท → เงินสำรอง 72,000 บาท
  • รายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท → เงินสำรอง 120,000 บาท

ตัวเลขอาจดูสูง แต่ไม่จำเป็นต้องเก็บให้ครบในทันที การมีเป้าหมายชัดเจนช่วยให้วางแผนการออมได้ง่ายขึ้น เช่น ตั้งงบออมเดือนละ 10%–20% ของรายได้ และแยกบัญชีไว้เฉพาะ

วิธีเริ่มต้นเก็บ

  • แยกบัญชีสำหรับเงินสำรองออกจากบัญชีใช้จ่าย
  • ตั้งตัดอัตโนมัติทุกเดือน เช่น ทุกต้นเดือนให้ระบบโอนเงินออมออกก่อนใช้
  • ใช้กฎ “จ่ายตัวเองก่อน” เพื่อไม่ให้เหลือเก็บแค่เศษเงิน

เก็บเงินออมไว้ที่ไหนดี

  • บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง สภาพคล่องดี ดอกเบี้ยมากกว่าบัญชีทั่วไป ถอนง่ายในยามจำเป็น
  • บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี สำหรับคนอยากได้ดอกเบี้ยแน่นอนและไม่เผลอใช้
  • กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) มีโอกาสได้ผลตอบแทนดีกว่าฝากธนาคาร และยังถอนเงินได้ใน 1–2 วันทำการ
  • หลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในหุ้นหรือคริปโต เพราะราคาผันผวนสูง ไม่เหมาะกับเงินที่ต้องใช้ฉุกเฉิน

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top