ช่วงที่ผ่านมาใครเลื่อนฟีดก็น่าจะเห็นข่าว ‘แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ’ กันเต็มไปหมด ถึงแม้ว่าแรงสั่นสะเทือนจะไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นอพยพ แต่ก็ทำให้หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการ ‘เตรียมพร้อม’ มากขึ้น หนึ่งในสิ่งที่ควรมีติดบ้าน หรือติดรถไว้เลยแบบไม่ต้องคิดเยอะ คือ กระเป๋าฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์จาก ภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม, แผ่นดินไหว หรือแม้แต่ อุบัติเหตุ ที่ไม่คาดฝันอย่างไฟไหม้ ตึกถล่ม หรือระบบไฟฟ้าล่ม ก็สามารถใช้เจ้า ‘กระเป๋านี้’ เป็นตัวช่วยให้เรารอดจากความวุ่นวายขั้นต้นได้ มันคือการเตรียมของล่วงหน้าในแบบที่ไม่หวังให้ต้องใช้ แต่ถ้าต้องใช้เมื่อไหร่จะได้ไม่มานั่งเสียใจทีหลังว่า ‘รู้งี้เตรียมไว้ก่อนก็ดี…’
การจัด กระเป๋าฉุกเฉิน ไม่ใช่แค่โยนของลงกระเป๋าแล้วจบ มันต้องเลือกของให้ตอบโจทย์เวลาที่สถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นจริง ลองเช็กดูว่าของเหล่านี้ครบมั้ย?
- แบตสำรอง + สายชาร์จ เพราะในช่วงวิกฤต การติดต่อกับโลกภายนอกคือสิ่งสำคัญสุด ถ้าโทรศัพท์ดับ = หลุดการเชื่อมต่อไปเลย ดังนั้นแบตสำรองที่ชาร์จเต็มไว้ตลอด + สายชาร์จที่ใช้งานได้จริง คือของที่ห้ามลืม
- ไฟฉาย อย่าหวังว่าไฟจะเปิดตลอด โดยเฉพาะเวลาไฟดับตอนกลางคืนในพื้นที่ที่ไม่มีแสงเลย ไฟฉายจะช่วยให้เราเห็นทาง ปลอดภัยขึ้น และยังใช้ส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ตำแหน่งเราได้อีกด้วย
- ยาสำคัญ เพื่อนๆ คนไหนเป็นโรคประจำตัว ห้ามลืมพกยาเด็ดขาด และควรมียาเบื้องต้นพวกพารา, ยาแก้แพ้, ยาแก้ท้องเสีย ติดไปด้วย เพราะเวลาเกิดเหตุ อุบัติเหตุ หรือสถานการณ์ไม่คาดคิด การได้ยากินทันทีอาจช่วยชีวิตได้เลย
- อาหารแห้ง + น้ำดื่ม เลือกอาหารที่ไม่ต้องแช่เย็น เก็บได้นาน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ถั่วกระป๋อง, ขนมปังแห้ง หรือ energy bar รวมถึงน้ำเปล่าแบบขวดเล็กๆ กะไว้ให้พอสำหรับอยู่ได้อย่างน้อย 1-2 วัน
- เอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน บัตรผู้ป่วยประจำตัว ข้อมูลติดต่อญาติ และเบอร์ฉุกเฉิน ควรใส่ไว้ในซองกันน้ำ แยกออกมาให้หยิบง่าย จะเป็นกระดาษหรือโหลดใส่แฟลชไดรฟ์ไว้ก็ได้เหมือนกัน
- ชุดปฐมพยาบาล อันนี้ควรมีเป็นเซ็ตพื้นฐานที่ประกอบด้วยพลาสเตอร์ ผ้าก๊อซ สำลี เทปพันแผล และแอลกอฮอล์ บางคนอาจไม่คิดว่าจะได้ใช้ แต่พอเจอแผลเล็ก ๆ หรือโดนของมีคมก็จะขอบคุณตัวเองที่เตรียมไว้
- เสื้อผ้า + ผ้าห่มบางๆ เสื้อยืด กางเกงชั้นใน ถุงเท้า และผ้าห่มแบบพกพา เผื่อกรณีต้องออกจากบ้านหรืออยู่ในที่พักชั่วคราว การได้เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ๆ หรือมีผ้าห่มกันหนาวสักผืนจะช่วยให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นเยอะ
- กระดาษชำระ + ทิชชู่เปียก ไม่ต้องพูดเยอะ ทุกคนรู้ว่าเรื่องความสะอาดสำคัญแค่ไหน ยิ่งอยู่ในที่ที่เข้าห้องน้ำยาก หรือไม่มีน้ำใช้ กระดาษกับทิชชู่คือไอเทมกู้ชีพจริงๆ
- เงินสด เวลาเกิด ภัยพิบัติ ระบบดิจิทัลอาจใช้งานไม่ได้ ดังนั้นเงินสดจำนวนหนึ่งควรแยกเก็บไว้ในกระเป๋าฉุกเฉินเสมอ (แนะนำให้มีแบงค์ย่อยด้วยนะ เผื่อต้องใช้ซื้อของแบบเร่งด่วน)
มีของครบแล้วก็ยังไม่พอ ถ้าของหมดอายุ ของเสีย หรือของใช้ไม่ได้ ก็จบเหมือนกัน เลยต้องมีเทคนิคในการดูแล กระเป๋าฉุกเฉิน ให้พร้อมใช้งานจริงทุกเวลา
- เช็กของทุก 3-6 เดือน
โดยเฉพาะพวกอาหารแห้ง ยา และแบตสำรอง ควรตั้งเตือนในมือถือไว้เลยว่าจะเช็กของทุกกี่เดือน ถ้ามีอะไรใกล้หมดอายุให้รีบเปลี่ยนทันที - วางไว้ในจุดที่หยิบได้ง่าย
ไม่ควรเก็บไว้ในที่ลึก ๆ หรือบนตู้สูง เพราะเวลาฉุกเฉินไม่มีเวลามาปีนตู้ หยิบคว้าต้องเร็ว วางไว้ใกล้ประตู หรือใกล้ห้องนอนคือเวิร์กสุด - ใช้กระเป๋าที่แข็งแรงและกันน้ำได้
เลือกใบที่สะพายหลังได้ ไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ใส่ของได้ครบ และควรเป็นวัสดุที่ทนฝน ทนฝุ่น จะได้ไม่ต้องห่วงเวลาเอาออกไปนอกบ้าน - บอกคนในบ้านให้รู้ว่ากระเป๋านี้คืออะไร
ไม่ใช่จัดไว้ดี แต่ไม่มีใครรู้ พอเกิดเหตุการณ์จริงก็ไม่มีคนหยิบ เพราะงั้นต้องแชร์ให้คนในบ้านรู้ด้วย ว่าใบนี้คือ กระเป๋าฉุกเฉิน และต้องเอาออกมาใช้ตอนไหน