คลายทุกข์ชาวออฟฟิศด้วยท่ายืดตัวแก้ปวดหลัง

สำหรับชาวออฟฟิศแล้ว อาการปวดหลังเป็นเรื่องสามัญธรรมดาเพราะพฤติกรรมการนั่งโต๊ะทำงานหรือการออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ อย่างผิดวิธี แต่จริงๆ แล้วการปวดหลังไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะอาจจะนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกได้เลย อย่างไรก็ตามพบว่าอาการปวดหลังของคนวัยทำงานทั่วไปมักจะมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อตึงหรือกล้ามเนื้อยึด วิธีแก้เบื้องต้นคือ ต้องออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ลองไปดูว่ามีวิธีบริการอย่างไรที่จะช่วยบรรเทาการปวดหลังได้บ้าง

ยืดกล้ามเนื้อหลัง

ท่าแรกให้เรานอนหงายราบกับพื้น มีหนอนหนุนรองคออย่างพอเหมาะ จากนั้นเริ่มโดยการ ขันเข่าขึ้นข้างหนึ่ง กดคางลงไปหาเข่า จากนั้นกอดเข่าที่ชันขึ้นมาให้ชิดหน้าอกและคาง ค้างไว้พร้อมนับ 1-10 จากนั้นทำสลับอีกข้างหนึ่ง โดยทำแบบนี้ซ้ำกัน 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังของเราได้ยืดออกลดอาการตึงได้

ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังขา

การยืดกล้ามเนื้อหลังขาทำได้โดย นอนหงายอยู่ในท่าเดิม มีหมอนหนุนคอ จากนั้นชันเข่าขึ้นด้านหนึ่ง และขาอีกข้างให้ยกขึ้นและยืดออก ยกขาสูงค้างไว้ ให้นับ 1-10 แล้วทำสลับข้างกัน ทำแบบนี้ซ้ำข้างละ 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้เราได้ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังขาได้อย่างดี

ยืดกล้ามเนื้อสะโพก

เริ่มต้นในท่าเดิม โดยท่าจะคล้ายๆ กับท่ายืดกล้ามเนื้อหลัง ให้เราชันเข่าขึ้นข้างหนึ่งแล้วยกขึ้นมาชิดหน้าอก ขาอีกข้างให้เหยียดตรงราบกับพื้นไว้ จากนั้นให้เกร็งขาข้างที่แนบพื้นพร้อมนับ 1-10 จากนั้นจึงคลายออก ทำสลับข้างกันข้างละ 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้เราบริหารกล้ามเนื้อสะโพก ลดอาการกล้ามเนื้อยึดหรือตึงซึ่งส่งผลถึงหลังได้

ยืดกล้ามเนื้อหน้าท้องสะโพก

ให้เริ่มต้นนอนหงายในท่าเดิม โดยเน้นให้หลังแนบชิดกับพื้น จากนั้นให้เข่าขึ้นมาทั้งสองข้าง หายใจเข้าออกช้าๆ พร้อมแขม่วหน้าท้องและขมิบก้นเกร็งไว้ นับ 1-10 ทำซ้ำอีก 10 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเรามีความแข็งแรงขึ้นซึ่งส่งผลได้ถึงหลัง ช่วยบรรเทาอาการปวดได้

ข้อสำคัญในการออกกำลังกายในท่าต่างๆ เหล่านี้คือ ไม่ควรยืดกล้ามเนื้อเกินไปจนรู้สึกเจ็บ หรือหากรู้สึกปวดหรือชาควรพักจนหายดีค่อยทำต่อ อย่างไรก็ตามวิธียืดกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นเพียงการบำบัดเบื้องต้นเท่านั้น จริงๆ แล้วอาการปวดหลังอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคทางกระดูก อาทิหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกเสื่อม หรือเกิดจากเส้นเอ็น โดยหากทำการบริหารร่างกายแล้วไม่รู้สึกดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้วินิจฉัยอย่างละเอียดทันทีก่อนที่อาการจะลุกลามกลายเป็นโรคร้าย

 

Related Posts

Leave a Comment

Scroll to Top