ตั้งการ์ดรับมือ! PM 2.5 ฝุ่นเล็กๆ แต่เอฟเฟคท์หลายด้าน

HIGHLIGHTS

  • PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
  • ช่วงเดือนธ.ค. – มี.ค. เรามักจะพบค่าฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงมากกว่าปกติ
  • ฝุ่น PM 2.5 ด้วยความที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้ผ่านการกรองจากโพรงจมูกเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ง่าย

 

เมื่อหน้าหนาวมาเยือน หรือในช่วงเดือนธ.ค. – มี.ค. เรามักจะพบค่าฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงมากกว่าปกติ เพราะฤดูหนาวมีอากาศที่ค่อนข้างปิด ไม่มีลม ไม่มีอากาศถ่ายเท จึงทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายสู่ชั้นบรรยากาศได้ และรวมตัวกันอยู่บนท้องฟ้าจนบางครั้งสามารถเห็นได้ด้วยตา วันนี้ Ananda Development จึงขอปัดฝุ่นนำเรื่องราวเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มาทำความเข้าใจกันอีกครั้ง

  • เริ่มจากคำว่า PM 2.5 นั้นย่อมากจาก Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron หมายถึง ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
  • สาเหตุหลักเกิดจากการเผาไหม้ เช่น ไอเสียจากรถยนต์และการจราจรที่ติดขัด, การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลลิงถ่านหินที่ปล่อยจากโรงงาน,การเผาขยะ เผาป่า หรือเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาคเกษตร และในภาคครัวเรือนก็มีส่วนสร้าง PM 2.5 ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่, การจุดธูปควันเทียน และการถ่ายเอกสาร เป็นต้น
  • ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ด้วยความที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้ผ่านการกรองจากโพรงจมูกเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ง่าย และแม้จะไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลในทันที แต่ความร้ายกาจของ PM 2.5 คือสามารถพาสารอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายได้ เช่นก่อสารมะเร็ง หรือสารโละหนัก เมื่อร่างกายสะสม PM 2.5 เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิด มะเร็งปอด, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง
  • การวัดคุณภาพอากาศกับ PM 2.5 ซึ่งปกติจะใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ในการบ่งบอกและแจ้งเตือน โดย PM 2.5 มีมาตรฐานความเข้มข้นเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ซึ่งในแต่ละวันค่าฝุ่น PM 2.5 จะมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศช่วยชี้วัดปริมาณฝุ่น และจะแจ้งเตือนเมื่อค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน เช่น

  • คุณภาพอากาศ 51-100 ระดับสีเหลือง (ปานกลาง ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้)
  • คุณภาพอากาศ 101-200 ระดับสีส้ม (เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน)
  • คุณภาพอากาศ 200 ขึ้นไป ระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน)

และฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยหายไปจากกรุงเทพฯ หรือในหลายๆ จังหวัด ดังนั้นอย่าลืมเตรียมยกการ์ดตั้งรับค่าฝุ่นด้วยวิธีดังนี้

  1. เช็กแอปพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นปริมาณสูง
  2. พกหน้ากาก N95 ไว้สวมใส่เมื่อต้องเข้าในพื้นที่เสี่ยงค่าฝุ่นปริมาณสูง
  3. เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ลดการสูดลมหายใจแรงและนำฝุ่น PM 2.5 ได้ง่าย
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเยอะๆ ในวันเผชิญค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

และหากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานเป็นเวลานาน อย่าลืมเช็กอาการเบื้องต้นว่าคุณแพ้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 หรือไม่?

  • ผิวหนังเป็นตุ่มผื่น หรือมีนูนแดงกระจายตามผิวหนัง
  • ตาแดง เปลือกตาบวม มีสีคล้ำใต้ตา หรือมีน้ำตาไหล
  • แน่นจมูก ทางเดินหายใจติดขัด จาม มีน้ำมูกแบบใส
  • ไอ จาม แน่นหน้าอก หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์ทันที

เมื่ออากาศภายนอกมีความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 สูง ก็มีโอกาสที่ฝุ่นจะแทรกเข้ามาในห้องนั่งเล่น หรือห้องนอนได้โดยเฉพาะเมื่อเปิดหน้าต่าง เปิดประตู ดังนั้นควรตั้งการ์ดรับมือกับปริมาณฝุ่นให้ห้องด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็ก จนถึงใหญ่ (ขึ้นอยู่กับขนาดห้อง) และหมั่นเปลี่ยนฟิลเตอร์กรองสม่ำเสมอ
  • เช็ดทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ไม่ให้ฝุ่นสะสมหนาแน่น
  • งดจุดธูปเทียน หรือสูบบุหรี่ในบ้าน
  • ปลูกไม้ประดับที่ช่วยฟอกอากาศ และลดมลพิษทางอากาศได้ เช่น ต้นพลูด่าง, ต้นจั๋ง, ต้นหนวดปลาหมึก, ต้นเศรษฐีเรือนใน, ต้นไทรใบเล็ก, ต้นวาสนาอธิษฐาน เป็นต้น

และทั้งหมดเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น หากต้องการลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวต้องมุ่งลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหันมาใช้ลดพลังงานไฟฟ้า, พลังงานสะอาดทางเลือก, ลดกระบวนการผลิตใหม่ หรือเปลี่ยนมาใช้จักรยานแทนการขับรถ เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูลจาก www.chula.ac.th

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top