รถไฟฟ้าสายสีแดง คืออะไร? มารู้จักพร้อมคู่มือเดินทางกันดีกว่า

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “รถไฟฟ้าสายสีแดง” กันมาบ้างแล้ว แต่ไม่รู้ว่าวิ่งเส้นไหนบ้าง มีค่าบริการเท่าไร รวมถึงเรื่องของระยะเวลาในการเดินทางด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีการปรับเปลี่ยนระยะเวลา รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่อาจทำให้หลายเกิดความสับสนและไม่กล้าใช้บริการ เราจึงขอแนะนำให้รู้จักกับรถไฟฟ้าสายนี้กันมากขึ้นในบทความนี้ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการเดินทางมากที่สุด

ขอบคุณรูปภาพจาก: digitalmore.co

รถไฟฟ้าสายสีแดง คืออะไร มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่ออะไร?

ก่อนอื่น ขออธิบายให้รู้จักกันก่อนว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง มีจุดประสงค์ที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถเดินทางไปยังบริเวณชานเมืองต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่ชานเมืองสามารถเดินทางเข้ามาในกทม. ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิม การจะเดินทางไปยังชานเมืองต่างๆ เช่น ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และสมุทรสงคราม หากไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวแล้ว จะต้องใช้บริการรถไฟดีเซลซึ่งมักจะพบปัญหาในเรื่องของความล่าช้าอยู่บ่อยๆ

ด้วยความที่เป็นโครงการใหญ่ มีการวางแผนให้เชื่อมต่อหลายจังหวัด เพราะฉะนั้นการก่อสร้างจึงต้องแบ่งออกเป็นเฟส และจะเปิดใช้ไปทีละส่วน ซึ่งขณะนี้ได้มีการสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2 เฟส และได้มีการเปิดใช้แล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564

ขอบคุณรูปภาพจาก: thansettakij.com

เส้นทางที่เปิดให้บริการ ของรถไฟฟ้าสายสีแดง

ในปัจจุบันนี้ รถไฟฟ้าสายสีแดง ได้เปิดให้บริการโดยแบ่งออกเป็นสายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้

  1. สายสีแดงเข้ม

แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้ จะมีจุดเริ่มต้นที่อยู่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ได้ และจะวิ่งขึ้นทางทิศเหนือ โดยยึดจากทางรถไฟสายเหนือเลย ซึ่งแต่เดิมโครงการนี้ได้ระบุว่าจะใช้ระยะเวลาในการสร้างเพียง 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2553-2556 แต่ติดปัญหาที่แนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้ ที่เป็นเส้นทางเดียวกันกับโครงการโฮปเวลล์ และจำเป็นจะต้องรื้อถอนโครงการนี้ออกก่อนเนื่องจากเกิดปัญหาเสาตอม่อของโครงการได้ถล่มลงมาทับพื้นที่ และภายหลังจากที่เคลียร์สถานที่เสร็จ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรถไฟและแนวเส้นทางอีก จึงทำให้เกิดความล่าช้ามาจนถึงปี 2564 จึงพึ่งเปิดบริการได้ไม่นานมานี้

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม มีทั้งหมด 10 สถานี ได้แก่

  1. สถานีกลางบางซื่อ (สถานีเริ่มต้น เชื่อมต่อกับ MRT และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด)
  2. สถานีจตุจักร
  3. สถานีวัดเสมียนนารี
  4. สถานีบางเขน
  5. สถานีทุ่งสองห้อง
  6. สถานีหลักสี่
  7. สถานีการเคหะ
  8. สถานีดอนเมือง (เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด)
  9. สถานีหลักหก (มหาวิทยาลัยรังสิต)
  10. สถานีรังสิต (ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต)

การเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มทั้ง 10 สถานี มีระยะทางทั้งหมด 22.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25-30 นาที ซึ่งในอนาคตจะมีการเพิ่มเติมส่วนต่อขยายทางด้านเหนืออีก ก็คือเพิ่มอีก 4 สถานี โดยผ่าน อ.เมืองปทุมธานี อ.ธัญบุรี และ อ.คลองหลวง โดยจะให้สิ้นสุดที่สถานีธรรมศาสตร์รังสิต ขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 โดยรายละเอียดเส้นทางมีดังต่อไปนี้

  1. สถานีรังสิต
  2. สถานีคลองหนึ่ง
  3. สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  4. สถานีเชียงราก
  5. สถานีธรรมศาสตร์รังสิต

และเมื่อส่วนต่อขยายจากสถานีรังสิต ไปจนถึงสถานีธรรมศาสตร์รังสิตเสร็จสิ้น ก็จะมีการขยายเส้นทางเพิ่มเติมไปจนถึงสถานีบ้านภาชี ในขณะนี้ได้มีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว และเตรียมการประมูลงานก่อสร้างภายในปี 2566 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยมีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีธรรมศาสตร์รังสิต
  2. สถานีนวนคร
  3. สถานีเชียงรากน้อย
  4. สถานีบางปะอิน
  5. สถานีบ้านโพธิ์
  6. สถานีอยุธยา (สถานีรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟทางไกลไปสายเหนือและสายอีสาน)
  7. สถานีบ้านม้า
  8. สถานีมาบพระจันทร์
  9. สถานีพระแก้ว
  10. สถานีบ้านภาชี

นอกจากส่วนต่อขยายไปทางทิศเหนือที่จะขึ้นไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็มีส่วนต่อขยายไปทางด้านใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส ซึ่งในเฟสแรกจะเป็นส่วนต่อขยายสถานีกลางบางซื่อ – หัวลำโพง ที่คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2571 โดยในเฟสนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อ 3 สนามบินได้แก่ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาด้วย มีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีกลางบางซื่อ
  2. สถานีสามเสน
  3. สถานีแยกราชวิถี (สถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน)
  4. สถานียมราช
  5. สถานียศเส
  6. สถานีหัวลำโพง (เชื่อมต่อ MRT)

ในเฟสที่ 2 จะเป็นการขยายเส้นทางจากสถานีหัวลำโพง ไปยังสถานีมหาชัย ซึ่งมีทั้งหมด 17 สถานี ใช้ระยะทางทั้งหมด 36 กิโลเมตร ในขณะนี้กำลังปรับปรุงและแก้ไขเส้นทาง เนื่องจากต้องใช้เส้นทางใต้ดินแทง มีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีหัวลำโพง
  2. สถานีคลองสาน (เชื่อมต่อกับ MRT)
  3. สถานีวงเวียนใหญ่ (เชื่อมต่อกับ BTS)
  4. สถานีตลาดพลู (เชื่อมต่อกับ MRT)
  5. สถานีวุฒากาศ (เชื่อมต่อกับ MRT)
  6. สถานีจอมทอง
  7. สถานีวัดไทร
  8. สถานีวัดสิงห์
  9. สถานีบางบอน
  10. สถานีรางสะแก
  11. สถานีรางโพธิ์
  12. สถานีสามแยก
  13. สถานีพรมแดน
  14. สถานีทุ่งสีทอง
  15. สถานีบางน้ำจืด
  16. สถานีคอกควาย
  17. สถานีเอกชัย
  18. สถานีมหาชัย

และเฟสสุดท้าย คือเฟสมหาชัย-ปากท่อ เป็นเฟสที่มีระยะทางมากที่สุดคือ 56 กิโลเมตร แต่เฟสนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทบทวนแผนงาน และเลื่อนการดำเนินการออกไป โดยที่ยังไม่มีกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าโครงการนี้จะยังไปต่อตามที่วางแผนไว้แต่แรกหรือไม่ ถ้าหากว่ายังเป็นไปได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก

  1. สายสีแดงอ่อน

สำหรับแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนนี้ ตามโครงการแต่เดิมตั้งใจว่าจะให้วิ่งผ่าน 3 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ นครปฐม -กทม. (สถานีกลางบางซื่อ) – ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีระยะทางทั้งหมด 117.5 กิโลเมตร ให้บริการ 31 สถานี มีทั้งการวิ่งบนดิน วิ่งเสมอดิน และวิ่งใต้ดิน ปัจจุบันนี้เปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. สถานีกลางบางซื่อ (สถานีเริ่มต้น เชื่อมต่อกับ MRT และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด)
  2. สถานีบางซ่อน (เชื่อมต่อกับ MRT)
  3. สถานีบางบำหรุ
  4. สถานีตลิ่งชัน

ในขณะนี้กำลังมีการเตรียมการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันตกเพิ่มขึ้น โดยจะต่อจากตลิ่งชัน ไปศาลายา รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร โดยมีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีตลิ่งชัน
  2. สถานีบ้านฉิมพลี
  3. สถานีกาญจนาภิเษก
  4. สถานีศาลาธรรมสพน์
  5. สถานีศาลายา

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางแยกจากสถานีตลิ่งชันเพิ่มอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่สถานีศิริราช โดยมีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีตลิ่งชัน
  2. สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน
  3. สถานีจรัญสนิทวงศ์ (เชื่อมต่อ MRT)
  4. สถานีศิริราช

ทางด้านของส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนฝั่งตะวันออก จะเป็นเส้นทางบางซื่อ-หัวหมาก ที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อ 3 สนามบินเช่นเดียวกับสายสีแดงเข้ม ซึ่งในขณะนี้ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการประมูลและเตรียมการก่อสร้าง โดยมีรายละเอียดเส้นทางดังต่อไปนี้

  1. สถานีกลางบางซื่อ
  2. สถานีแยกราชวิถี (เชื่อมต่อกับสายสีแดงเข้ม)
  3. สถานีพญาไท (เชื่อมต่อกับ BTS และ ARL)
  4. สถานีมักกะสัน (เชื่อมต่อกับ MRT)
  5. สถานีรามคำแหง (เชื่อมต่อกับ ARL)
  6. สถานีหัวหมาก (เชื่อมต่อกับ BTS)

และส่วนต่อขยายสุดท้าย คือหัวหมาก ไปยังชุมทางฉะเชิงเทรา ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทบทวนแผนงาน และเลื่อนการดำเนินการออกไป โดยที่ยังไม่มีกำหนดเพิ่มเติมเช่นกัน

ขอบคุณรูปภาพจาก: ddproperty.com

ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดง มีราคาอะไรบ้าง?

ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ทดลองให้บริการฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจึงเริ่มเก็บค่าโดยสาร โดยมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง หากเฉลี่ยแล้วจะเท่ากับเสียค่าโดยสารแค่ 1.5 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น

สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางประจำ สามารถซื้อบัตรโดยสารแบบรายเดือนได้ โดยจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

  • 20 เที่ยว ราคา 700 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 35 บาท)
  • 30 เที่ยว ราคา 900 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 30 บาท)
  • 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 25 บาท)

สำหรับผู้โดยสารที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% ผู้โดยสารที่เป็นผู้สูงอายุ จะได้ส่วนลดค่าโดยสาร 50% และผู้พิการ จะไม่คิดค่าโดยสารตลอดทั้งสาย วิธีการคิดค่าโดยสารนี้ จะใกล้เคียงกับการเดินทางโดย MRT เลย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าคุณจะไม่ค่อยถนัดใช้งานเท่าไร ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากจนเกินไปนัก และไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงด้วย

แต่ละสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดง ใกล้สถานที่ใดบ้าง?

สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดง สิ่งแรกที่อยากให้รู้ก่อนก็คือ รถไฟฟ้าจะมาทุกๆ 30 นาที (แต่เดิม 20 นาที แต่เนื่องจากมีผู้โดยสารน้อย จึงต้องลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนเที่ยววิ่งลง) เพราะฉะนั้นอาจจะต้องวางแผนการเดินทางให้ดี ส่วนรายละเอียดสถานที่ใกล้เคียงของแต่ละสถานี มีดังนี้

  • สถานีตลิ่งชัน – ตลาดน้ำตลิ่งชัน
  • สถานีบางบำหรุ – โครงการช่างชุ่ย ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี
  • สถานีบางซ่อน – รพ. เกษมราษฎร์ ถนนประชาชื่น ตลาดวงศ์สว่าง
  • สถานีกลางบางซื่อ – สวนจตุจักร ตลาดจตุจักร ตลาดอตก.
  • สถานีจตุจักร – เซ็นทรัลลาดพร้าว โรงเรียนหอวัง ถนนวิภาวดีรังสิต ปตท.สำนักงานใหญ่
  • สถานีวัดเสมียนนารี – วัดเสมียนนารี ถนนประชาชื่น ถนนวิภาวดีรังสิต ตลาดบองมาร์เช่
  • สถานีบางเขน – ม.เกษตรศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่
  • สถานีทุ่งสองห้อง – สโมสรตำรวจ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง
  • สถานีหลักสี่ – วัดหลักสี่ ไอทีสแควร์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ม.ศรีปทุม เซ็นทรัลรามอินทรา
  • สถานีการเคหะ – ร้านเจ๊เล้ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
  • สถานีดอนเมือง – สนามบินดอนเมือง วัดดอนเมือง
  • สถานีหลักหก – ม.รังสิต ตลาดสี่มุมเมือง เซียร์รังสิต
  • สถานีรังสิต – ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต บริษัทเวิร์คพอยท์ ตลาดรังสิต

ช่วงเวลาที่รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการ

สำหรับการเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ละสถานีจะให้บริการไม่พร้อมกัน ถ้าหากว่าขึ้นจากรังสิต เที่ยวแรกจะเริ่มต้นในเวลา 05.30 น. แต่ถ้าหากขึ้นจากสถานีกลางบางซื่อ จะเริ่มต้นที่ 05.35 น. ขณะที่เที่ยวสุดท้าย จะให้บริการเหมือนกันคือเวลา 00.00 น.

จากภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็นับว่าการเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ถึงแม้ว่าเส้นทางบางจุดอาจจะดูทับซ้อนกับ BTS ที่หลายคนคุ้นชินมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นการเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง หรือเส้นวิภาวดีรังสิต ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากๆ ในกรณีที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว และไม่สะดวกที่จะขึ้นรถตู้เอกชน ยิ่งถ้าหากโครงการนี้สามารถขยายได้ตามแผนที่วางไว้ การเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดต่างๆ ใกล้กรุงเทพก็จะไม่ได้เป็นเรื่องยาก และไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่สูงอีกต่อไป

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top