ทำความรู้จัก Chat GPT & DALL·E 2 ระบบ AI Chatbot ที่พร้อมเขย่าทุกวงการ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยี AI Chatbot กำลังขยายความสามารถ รวมถึงยกระดับระบบปฏิบัติการให้มีบทบาทและเข้าถึงกลุ่มคนทุกวงการได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากกระแสความตื่นตัวของผู้คนหลังจากการใช้งาน ChatGPT (แชทจีพีที) โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ทดลองใช้ฟีเจอร์แบบไม่เสียค่าบริการ (Free Plan) และทดสอบประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ตัวใหม่ หรือ AI Chatbot ว่ามีความแตกต่าง และก้าวข้ามขีดจำกัดได้มากน้อยเพียงใด

ซึ่งในบทความนี้ Ananda จะพาไปทำความรู้จักกับ ChatGPT (แชทจีพีที) และ DALL·E ที่ถูกวิจัยและพัฒนาภายใต้บริษัท OpenAI (โอเพนเอไอ) ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ในซานฟรานซิสโก โดยมี Elon Musk เจ้าของทวิตเตอร์ และเทสล่า เป็นผู้ถือหุ้นร่วมลงทุนกับนักลงทุนอื่นๆ ในจำนวนเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปัจจุบัน Elon Musk ได้ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการแล้ว) ต่อมาในปี 2019 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft ก็ร่วมลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อศึกษาวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ และล่าสุด Microsoft ก็เพิ่งประกาศทุ่มเงินลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนา ChatGPT (แชทจีพีที) ตัวเปลี่ยนเกมของโลก AI อีกด้วย

ChatGPT: แชบอทตัวใหม่ที่ใช้ Big Data และการประมวลผลด้านภาษามาเขย่าทุกวงการ 

ChatGPT หรือปัญญาประดิษฐ์ประเภท AI Chatbot ที่ทั้งโลกกำลังจับตามองด้วยความอัจฉริยะด้านภาษา มีการโต้ตอบเสมือนพูดคุยกับคนอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจาก AI Chatbot ที่เคยถูกพัฒนามาก่อนหน้า 

โดย ChatGPT ย่อมาจาก Generative Pre-trained Transformer ก็คือแชตบอทที่สามารถสร้างข้อความสื่อสารตอบโต้กับคนได้ โดยมีการเทรนด์ชุดเซตข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big Data, มีการเพิ่มการเรียนรู้แบบ Deep Learning, มีการประมวลผลด้านภาษาที่สละสลวย รวดเร็ว ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และพูดคุยตอบโต้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Natural Languages) ตั้งแต่การตอบคำถาม, เขียน Source Code พัฒนาโปรแกรม, เขียนแผนธุรกิจ, แปลภาษา เขียนเรียงความ, เขียนจดหมาย, สรุปเนื้อหา, คิดไอเดียสำหรับคอนเทนต์ จนถึงการวางแผนการท่องเที่ยวเลยทีเดียว

ใครอยากลองเล่น ทดสอบประสิทธิภาพ ChatGPT คลิกไปเล่นได้ที่ https://chat.openai.com/chat

และด้วยความอัจฉริยะของ ChatGPT นอกจากจะมีผู้ใช้งานที่มากกว่า 1,000,000 คนในเวลาเพียง 5 วันหลังเปิดตัว ยังเป็นที่จับตามองของเหล่านักการตลาด นักลงทุนเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google ที่ต้องประกาศ Code Red เร่งพัฒนาโมเดล AI ใหม่ๆ เพื่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งในภาคของ ‘การศึกษา’ เองก็ตื่นตัวกับความอัจฉริยะของ ChatGPT นี้ไม่น้อย เพราะ AI Chatbot สามารถเขียนบทความ Essey อย่างมืออาชีพเพียงพริบตาเดียว ทำให้การวัดทักษะด้านภาษาอาจตรวจสอบได้ยากมากขึ้น ดังนั้นโรงเรียนในนิวยอร์กหลายแห่งได้ปิดกั้นการเข้าถึง ChatGPT เป็นที่เรียบร้อย 

DALL·: แชบอททุบกรอบจินตนาการ สร้างงานศิลป์ผ่านคีย์เวิร์ดคำสั่ง 

DALL·E เป็นโมเดล AI ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย OpenAI เช่นกัน เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2021 (ก่อน ChatGPT เพียงไม่นาน) ซึ่งปัจจุบัน DALL·E ได้ถูกอัปเกรดเป็นเวอร์ชั่น 2 แล้ว โดยจะใช้เทคโนโลยี Transformer เหมือนกับ ChatGPT แต่ DALL·E นั้นเน้นการสร้างภาพจากข้อความคำสั่ง เช่น พิมพ์คำสั่ง “Two dogs playing with a ball” ระบบ AI Chatbot ก็จะประมวลผลด้านภาษาออกมาเป็น “ภาพของสุนัขสองตัวที่เล่นบอลอยู่” 

และนอกจากความอัจฉริยะด้านการประมวลภาพจากคีย์เวิร์ดแล้ว DALL·E ยังมีความสามารถในการ Edit หรือ Retouch ภาพได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายความกว้างของภาพ, การลบหรือเพิ่มองค์ประกอบโดยยังคงแสงเงาเดิม, เปลี่ยนแปลงภาพจากต้นฉบับจะปรับให้สีสด สีย้อนยุค หรือเปลี่ยนมุมภาพก็ทำได้ง่าย 

ทดสอบประสิทธิภาพ DALL·E ได้ที่นี่เลย https://openai.com/dall-e-2/

ความอัจฉริยะที่น่าจับตามองในอนาคต หรือจุดจบของสายงานบางอาชีพ? 

สำหรับ DALL·E เวอร์ชั่น 2 ได้เพิ่มความเนียนของภาพที่ประมวลผลออกมาให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตต้องมาติดตามกันว่า DALL·E จะพัฒนาไปในทิศทางใดมากขึ้น และในส่วนของ ChatGPT หลังจากเปิดตัวเวอร์ชั่นล่าสุด 3.5 มาเพียงไม่กี่เดือน เราได้คำตอบที่แน่ชัดอย่างหนึ่งว่า AI Chatbot ตัวนี้มีความอัจฉริยะด้านการใช้ภาษาที่สวยงาม และสื่อสารได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของคนมากกว่า AI Chatbot ที่เคยมีมา 

แต่ถ้าจะให้คำตอบถึงประสิทธิภาพของ ChatGPT ว่าจะ Disrutp ทุกวงการหรือทดแทนตำแหน่งงานของคนได้หรือไม่นั้น ต้องใช้เวลาติดตามมากกว่านี้สัก 3-5 ปี เพราะหากมองย้อนกลับในระบบ AI Chatbot ที่มีมาก่อนหน้า ในช่วงเปิดตัวแม้จะสร้างความฮือฮาแต่ยังมีข้อจำกัดในประสิทธิภาพอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ใน ChatGPT นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่าระบบยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการอัปเดตชุดข้อมูล, ความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ, ความเข้าใจในพื้นฐานของมนุษย์ที่หลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม รวมไปถึงอคติที่อาจเกิดจากชุดข้อมูลที่ถูกเทรนก็เป็นได้ ต้องติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต 

 

Related Posts

Leave a Comment

Categories

Recent Posts

Popular Tags

Scroll to Top